ส่งเสริมและสร้างสรรค์องค์ความรู้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนคลองท่อม
เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ ให้สามารถดำรงอยู่คู่กับมนุษย์ได้อย่างยั่งยืนสร้างทัศนะให้กับผู้คนในชุมชน การใช้พลังงาน การคัดแยกขยะ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้เกิดความสมดุลและมีความยั่งยืนในการดำเนินชีวิต
ด้วยลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้ ประเทศไทย ที่เป็นแหลมยื่นไปในทะเลเหมือนกำแพงธรรมชาติที่กั้นระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กลายเป็นจุดปะทะของเส้นทางการเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย จึงปรากฏแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อค้าขายทางทะเล ตั้งแต่จังหวัดชุมพร ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ กลายเป็นบริเวณที่ตั้งเมืองท่าสำคัญเมื่อราว 1,000-2,000 ปี
มาแล้ว บรรดาพ่อค้าจากต่างแดนได้มุ่งหน้าเดินเรือมายังเมืองท่าต่างๆ นี้ เพื่อจอดพักเรือและขนถ่ายสินค้าลัดข้ามคาบสมุทรโดยมิได้เดินเรืออ้อมแหลมมลายู โดยสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมทั้งทางซีกโลกตะวันตกและตะวันออก ในเวลานั้นคือ ลูกปัด จึงทำให้พบหลักฐานการกระจายตัวของลูกปัดตามเมืองท่าหรือสถานีการค้าต่างๆ มีเป็นจำนวนมาก แหล่งโบราณคดีที่พบลูกปัดในภาคใต้โดยมากล้วนพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมจากอินเดียควบคู่ด้วยเสมอ เช่น จารึกสั้นๆ บนตราประทับ สัญลักษณ์ทางศาสนา ภาชนะดินเผา จึงอาจกล่าวได้ว่าการเข้ามาของลูกปัดในฐานะเครื่องประดับหรือเครื่องราง ตลอดจนการรู้จักวิธีการผลิตลูกปัดแก้ว ล้วนเกิดจากการติดต่อแลกเปลี่ยนทางการค้าและการรับวัฒนธรรมมาจากอินเดียทั้งสิ้น ทางด้านการติดต่อค้าขาย ลูกปัดสามารถใช้เป็นหลักฐานอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างกันได้อย่างหลากหลาย เช่น ลูกปัดสุริยเทพ (รูป 9524-9525) ที่ถูกค้นพบที่คลองท่อม เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับลูกปัดโรมัน เพราะมีลักษณะลวดลายที่คล้ายกัน ลูกปัดสุริยเทพนี้ยังพบตามเส้นทางสายไหมในทะเลทรายของประเทศจีนด้วย
ดังนั้นอาจสะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางการค้าที่เรียกว่า เส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลที่เชื่อมโยงถึงกันเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว โดยมีคลองท่อมเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้า นอกจากนี้คลองท่อมยังพบลูกปัดหรือเครื่องประดับทองคำที่ใช้ทองเม็ดเล็กมาเชื่อมติดกัน ซึ่งเป็นเทคนิคจากตะวันออกกลาง ภาคใต้โดยเฉพาะคลองท่อม นับเป็นแหล่งผลิตลูกปัดสำคัญระดับภูมิภาค และเชื่อว่ามีปริมาณมากพอที่จะส่งออกไปยังดินแดนต่างๆดังนั้นแหล่งโบราณคดีที่พบลูกปัดทั้งภายในประเทศไทยและนอกประเทศเช่น ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ถ้าหากว่าดินแดนหรือประเทศต่างๆ เหล่านั้น ล้วนไม่พบหลักฐานว่ามีแหล่งผลิตลูกปัดขึ้นเองในท้องถิ่น ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจนำเข้ามาจากภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะคลองท่อม บริเวณคลองท่อม เป็นพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งลำน้ำเหมาะต่อการทำเกษตรกรรม บริเวณเนินดินควนลูกปัดที่มีการขุดพบลูกปัดโบราณจำนวนมาก ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและตั้งถิ่นฐานของชุมชนและอยู่ไม่ห่างจากปากแม่น้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลอันดามัน จึงเหมาะกับการติดต่อเรือเดินทะเลที่เข้ามาทางฝั่งทะเลตะวันตก ลูกปัดและโบราณวัตถุที่ค้นพบ ณ คลองท่อมแห่งนี้ เป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กับโลกตะวันตกและโลกตะวันออกเมื่อสองพันปีมาแล้ว คลองท่อมจึงเป็นสถานีการค้าสำคัญ บนชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีการติดต่อกับดินแดนโพ้นทะเลอย่างกว้างขวางและเป็นเครือข่ายการค้าสำคัญแห่งหนึ่งของโลกยุคโบราณ
คลองท่อมเป็นพื้นที่ทางภาคใต้ฝั่งอันดามันของเมืองไทย ที่ยังมีธรรมชาติสวยงามอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเลและป่าชายเลน ที่นี่เป็นแหล่งพุน้ำร้อนเกลือหรือน้ำพุร้อนเค็ม (Salt Hot Spring) หนึ่งในไม่กี่แห่งในโลก เช่น Saline Valley อุทยานแห่งชาติ Death Valley ประเทศสหรัฐอเมริกา
น้ำซึ่งผุดมาจากชั้นใต้ดินตามธรรมชาติ ไหลออกมาตามรอยแตกของหินและตะกอน เกิดจากการผสมกันของน้ำร้อนและน้ำทะเลในระดับลึก ก่อนโผล่พ้นพื้นดิน มีคุณสมบัติเหมือนน้ำทะเล ในขณะเดียวกันก็เป็นกลาง ไม่เป็นกรดหรือด่าง มีปริมาณของเกลือผสมอยู่มากกว่า 9 กรัมต่อลิตร ปริมาณแคลเซียม 104 มิลลิกรัมต่อลิตร ปริมาณแมกนีเซียม 29 มิลลิกรัมต่อลิตร และอุดมไปด้วยแร่ธาตุหลายอีกกว่าร้อยชนิด เช่น โซเดียม ซัลเฟอร์ โพแทสเซียม ไบคาร์บอเนต และซิลิคอน ไดออกไซด์
รูปแบบการแช่พุน้ำร้อนเค็ม แบบคนคลองท่อมที่มีเอกลักษณ์ และไม่เหมือนการแช่ที่ไหนในโลก เพราะไม่ใช่แค่การแช่น้ำร้อนเพื่อผ่อนคลาย แต่เป็นน้ำอัมฤทธิ์รักษาโรคที่ดึงดูดผู้ป่วยและคนปกติ มาเยียวยารักษาและเสริมสร้างพลัง รวมถึงการเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ผู้คนหลากหลาย ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมาใช้พื้นที่ร่วมกัน
อุณหภูมิของน้ำในบ่อน้ำพุร้อนเค็มอยู่ที่ประมาณ 40-47 องศาเซลเซียส ลักษณะใส ไม่มีตะกอน มองเห็นเป็นสีน้ำเงินคราม เนื่องจากการสะท้อนกลับของสเปคตรัมและการดูดกลืนแสงแดด เหมาะสำหรับการอาบชำระร่างกายแบบบรรเทาการปวดกล้ามเนื้อ และ ปวดข้อต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้มีการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น หรือช่วยผ่อนคลาย เพื่อรักษาสุขภาพโดยวิธีธาราบำบัดแบบธรรมชาติ เชื่อว่าสามารถรักษาโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคปวดเมื่อยตามข้อกระดูก โรคไหลเวียนโลหิต โรคผดผื่นคัน
สภาพพื้นที่พุน้ำร้อนเค็มคลองท่อมมีความเปราะบางของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมสูง ด้วยสามารถขุดพบน้ำร้อนตื้นสุดในระดับ 5 เมตร ข้อมูลธรณีวิทยาใต้ดินพบว่า มีรอยเลื่อนของเปลือกโลกเป็นผนังกั้นน้ำพุร้อนเค็มกับน้ำร้อนด้านนอกพื้นที่ไว้ ซึ่งมีความเปราะบางต่อการแตกหรือรั่วค่อนข้างสูงหากได้รับการกระทบกระเทือน
ข้อมูลทางเคมีและชีววิทยาพบว่าพุน้ำร้อนเค็มบริเวณนี้เกิดจากแหล่งน้ำเดียวกันทั้งหมดและมีปริมาณที่จำกัด โดยพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อมมีต้นกำเนิดแตกต่างจากน้ำพุร้อนอื่นๆ ในจังหวัดกระบี่ อย่างน้ำพุร้อนสระน้ำผุด-ต้นน้ำสระมรกต ซึ่งเป็นประเภทน้ำพุร้อนทั่วไป (Simple Spring) ที่มีความร้อนและแร่ธาตุเช่นกัน แต่ไม่มีความเค็ม
ก่อนจะมาเป็น Klongtom Heritage บ่อน้ำพุร้อนเค็มดั้งเดิม ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าชายเลน ชาวบ้านรู้จักและพากันมาแช่น้ำร้อนกันมาเป็นเวลานาน โดยที่มีบ่อน้ำผุดที่เรียกว่าบ่อแม่และบ่อแฝด เป็นบ่อต้นน้ำชาวบ้านต่างเชื่อว่าบ่อแม่นี้เป็นบ่อศักดิ์สิทธิ์ เพราะป่วยไข้มาลงแช่น้ำก็หายขาด จึงเรียกกันว่าโต๊ะน้ำพุร้อนเค็ม โต๊ะคือคำเรียกของคนอิสลาม หมายถึงปู่ย่าตายายหรือบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ่อน้ำพุ มาอธิษฐานเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บและวักน้ำจากบ่อแม่ดื่ม เมื่อหายจากโรคก็จะมาแก้บนด้วยการผูกผ้าสีตามต้นไม้ หรือนำไก่บ้านมาปล่อยแก้บน
บ่อน้ำพุร้อนเค็มนั้นเป็นที่รู้จักของชาวคลองท่อมและคนในพื้นที่ภาคใต้ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากนัก คนที่มาแช่บ่อน้ำพุร้อนเค็มที่นี่ส่วนใหญ่จึงมีแต่คนในพื้นที่ที่เห็นหน้ากันบ่อยๆ มีการพูดคุยทักทายไปพร้อมกับล้อมวงแช่น้ำร้อนด้วยกัน เป็นบรรยากาศแช่น้ำแบบไทยๆ ที่น่ารักน่ามาสัมผัส
สภาพภูมิประเทศและธรณีสัณฐานของพื้นที่คลองท่อม ทิศเหนือเป็นเทือกเขายาวแนวเหนือ-ใต้ สลับกับพื้นที่ลอนลาดและลอนชัน ทิศตะวันตกเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบชายฝั่งติดกับทะเลอันดามัน ทิศใต้และตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูเขาสูงต่ำ กระจัดกระจายสลับกับพื้นที่แบบลูกคลื่น ลอนลาดจนถึงค่อนข้างราบเรียบ และพบแหล่งพุน้ำร้อนรวมถึงพุน้ำร้อนเค็ม
ระบบนิเวศดั้งเดิมของคลองท่อม สภาพป่าไม้ส่วนใหญ่ เป็นป่าดิบชื้นและป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ที่สาคัญคือ ยางนา เคี่ยม พะยอม ตะเคียนทอง กันเกรา หลุมพอ มีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงป่าชายเลนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ
ปัจจุบันมีพื้นที่จำนวนไม่น้อยถูกพัฒนา ไปเป็นพื้นที่เพาะปลูกไม้เศรษฐกิจ อย่างยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ มะพร้าว เงาะและทุเรียน ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพเดิมที่เคยมีค่อยๆ หายไป
ระบบนิเวศสำคัญอย่างไร สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตในระบบนิเวศมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างซับซ้อน ทั้งในแง่การหมุนเวียนของธาตุอาหารและการถ่ายทอดพลังงาน อธิบายง่ายๆ คือเมื่อผู้ผลิต คือพันธุ์พืชเจริญเติบโตจากการสังเคราะห์แสง ส่วนของต้นไม้โดยเฉพาะใบไม้ กิ่งไม้และเศษไม้ จะร่วงหล่นทับถมในน้ำและดิน
กิ่งไม้และเศษไม้เหล่านั้นจะถูกย่อยสลายโดยผู้ย่อย กลายเป็นอินทรีย์วัตถุ ในที่สุดก็จะกลายเป็นแร่ธาตุอาหารของผู้บริโภคพวกกินอินทรีย์สาร พวกกินอินทรีย์สารนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วกลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนอันอุดมสมบูรณ์แก่ สัตว์น้ำเล็กๆ
สัตว์เล็กๆ ก็จะเจริญเติบโตขึ้นกลายเป็นอาหารของพวกกุ้ง ปู และปลา ขนาดใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับ หรือบางส่วนก็จะตายและผุพังสลายตัวเป็นธาตุอาหารสะสมอยู่ในระบบนิเวศนั่นเอง ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้จะถูกปรับให้เป็นไปอย่างสมดุลภายในระบบ ถ้าไม่ถูกรบกวนจากภายนอก
Klongtom Heritage จึงถูกสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจ ที่จะรักษาความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ดั้งเดิมของคลองท่อม ที่มีความเฉพาะตัวและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เมื่อพืชพรรณเขียวชอุ่ม สัตว์ป่าก็จะกลับมาพักพึงพึ่งอาศัย กลายเป็นระบบนิเวศซึ่งถือเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่ามหาศาล
แนวคิดการฟื้นฟูระบบนิเวศของ Klongtom Heritage เริ่มต้นจากสายน้ำ นอกจากพุน้ำร้อนเค็มที่ไหลเวียนไปทั่วโครงการเพื่อประโยชน์ในการเยียวยารักษาแล้ว ยังมีการสร้างวัฏจักรของน้ำผิวดินที่หมุนเวียนเป็นวงจร ทำให้ดินชุ่มชื้น เมื่อดินชุ่มชื้นระบบนิเวศก็อุมดสมบูรณ์ เพราะต้นไม้พืชพรรณมีน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอ
Klongtom Heritage นำพันธุ์ไม้หายากท้องถิ่นมาปลูกไว้ในโครงการ เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สูญหายไป เช่น ต้นยางนา ต้นจิกน้ำ จากนา ต้นทุ้งฟ้า ต้นพะยอม และต้นตะแบกนา รวมถึงปลูกพันธุ์ไม้ 5 ระดับ ประกอบไปด้วยระดับผสมผสาน สูง กลาง เตี้ยเรี่ยดิน และหัวใต้ดิน เพื่อช่วยในการกักเก็บน้ำ ระบบรากแบบผสมผสานของต้นไม้ต่างชนิดจะช่วยกักเก็บน้ำได้ดีกว่า
นอกจากนี้พืชพรรณแต่ละระดับยังมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันในแต่ละฤดูกาล รวมถึงเป็นแหล่งหากินและที่พักพิงของสัตว์ต่างชนิด ตั้งแต่นกบนฟ้าไปจนถึงสัตว์เลื้อยคลานครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งแต่ละชนิดล้วนสำคัญต่อระบบนิเวศทั้งสิ้น